ทำความรู้จักป่าชุมชน > การจัดการป่าไม้รูปแบบต่างๆ


การจัดการป่าไม้รูปแบบต่างๆ



ภูมิทัศน์ป่าไม้


การจัดการป่าของไทยมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของป่าไม้ ซึ่งกำหนดไว้โดยกฎหมาย หากใช้มุมมองแบบภาพรวมระดับ "ภูมิทัศน์" หรือ Landscape จะพบว่ามีการจัดการป่าไม้และการใช้ที่ดินหลายประเภท ซึ่งเป็นองค์ประกอบของภูมิทัศน์ที่มีความสัมพันธ์และส่งผลเชื่อมโยงถึงกัน โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดการและลักษณะของที่ดิน 2 ประเภทใหญ่คือ

  1. การจัดการป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ มีการจัดการในรูปแบบของอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
  2. การจัดการป่าไม้เพื่อการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ป่าชุมชน สวนป่า วนเกษตรของเกษตรกร เป็นต้น
การจัดการป่าของไทย
ภูมิทัศน์ป่าไม้


1. ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์

ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ รักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงาม หรือมีจุดเด่นเฉพาะตัว เพื่อการศึกษาการวิจัยและนันทนาการ

การประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ยังหมายรวมถึงเขตพื้นที่อื่นๆ ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเอาไว้

ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 67,633,277.42 ไร่ หรือคิดเป็น 21% ของพื้นที่ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • อุทยานแห่งชาติ 133 แห่ง เนื้อที่รวม 39,707,805 ไร่
  • วนอุทยาน 91 แห่ง เนื้อที่รวม 714,410.22 ไร่
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง เนื้อที่รวม 23,360,697.25 ไร่
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 75 แห่ง เนื้อที่รวม 3,794,047.95 ไร่
  • สวนพฤกษศาสตร์ 18 แห่ง เนื้อที่รวม 30,900.00 ไร่
  • สวนรุกขชาติ 53 แห่ง เนื้อที่รวม 25,417.00 ไร่

ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2507 จำนวน 1,221 แห่ง มีพื้นที่ราว 230,280.85 ไร่ อยู่ภายใต้การบริหารของกรมป่าไม้ประมาณ 146,376,720.90 ไร่





2. ป่าเศรษฐกิจ

ป่าเศรษฐกิจ กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตไม้และของป่า ป่าเศรษฐกิจนี้บางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และครอบคลุมถึงเขตพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมกับการกำหนดให้เป็นเขตป่าเศรษฐกิจอีกด้วย กล่าวคือ

1) ป่าเศรษฐกิจในที่ดินของรัฐ ได้แก่

  • ป่าสงวนแห่งชาติ (ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5)
  • เขตป่าไม้ของรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ตามกฎหมายให้เป็นป่าเศรษฐกิจ
  • เขตพื้นที่อื่นของรัฐที่ประสงค์จะสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ
  • ป่าไม้ถาวร
  • ป่าชายเลนนอกเขตป่าชายเลนอนุรักษ์

2) ป่าเศรษฐกิจในที่ดินของเอกชน ได้แก่

  • ที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน
  • ที่ดินนอกเขตป่าไม้ของรัฐอื่นๆ




3. ป่าชุมชน

ป่าชุมชน คือรูปแบบของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชุมชนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 กำหนดความหมายของป่าชุมชนไว้ว่า

“ป่าชุมชน คือป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวนรวม 11,327 โครงการ 13,028 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 6,295,718 ไร่ หรือประมาณ 2% ของพื้นที่ทั้งประเทศ หรือประมาณ 6% ของพื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบัน

ป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์

ป่าชุมชน เป็นแนวทางการจัดการป่าโดยชุมชนภายใต้ภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี และกติกาของชุมชน ซึ่งถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาช้านาน

ในปัจจุบันมีกฎหมายที่กล่าวถึงป่าชุมชนคือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในมาตรา 65 ระบุว่า ชุมชนสามารถใช้สิทธิร่วมกันในการขอใช้ป่าและทรัพยากรจากป่าได้ โดยกำหนดให้มี "เขตเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้" หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีการสำรวจทรัพยากรที่ทดแทนได้ตามฤดููกาลแล้ว พบว่ามีศักยภาพ ความเหมาะสม และเพียงพอที่จะเก็บหาหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากการเก็บหาของป่าตามฤดูกาลของชุมชนรอบพื้นที่ป่า และเป็นการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากป่าควบคู่ไปการรักษาสภาพแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์