CF-NET Index กับการรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชน

CF-NET Index เป็นเครื่องมือนำเสนอสถานภาพของการจัดการป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถติดตามสถานะการจัดการ ทรัพยากรป่าได้ด้วยตนเอง พร้อมปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการป่าให้สอดคล้องกับเป้าหมายของชุมชน และยังช่วยให้องค์กรหรือบุคคลภายนอกที่สนใจสนับสนุนงานของป่าชุมชนสามารถติดตามผลการจัดการป่าของชุมชน

CF-NET Index ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การจัดการป่าชุมชนสอดคล้องกับมาตรฐาน ESG หรือตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance) ซึ่งเป็นเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถสนับสนุนป่าชุมชนโดยมีข้อมูลที่สะท้อนผลลัพธ์ของการจัดการป่า และช่วยเชื่อมโยง ธุรกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่




ประโยชน์ของการรายงานสถานภาพป่าชุมชนด้วย CF-NET Index

สำหรับชุมชน

  • เสริมสร้างศักยภาพการจัดการป่าและการมีส่วนร่วมของชุมชน: กระบวนการจัดทำข้อมูลนี้มุ่งเน้นให้ชุมชน เป็นผู้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลป่าชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพในการจัดการป่าชุมชนให้แก่คณะกรรมการป่าชุมชน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
  • ติดตามและพัฒนาคุณภาพการจัดการป่า: ช่วยให้ชุมชนสามารถประเมินและปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรป่าของตนเองตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • รองรับการปรับปรุงแผนการจัดการป่า: สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการปรับปรุงแผนทุก 5 ปี ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้แผนการจัดการป่ามีความเหมาะสมกับบริบทชุมชน

สำหรับภาคธุรกิจ

  • เชื่อมภาคธุรกิจกับป่าชุมชนและการเสริมสร้างความยั่งยืน: องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะสามารถใช้รายงาน CF-NET Index เป็นข้อมูลประกอบรายงานความยั่งยืน (Sustainability reporting) โดยข้อมูลเป็นการรายงานที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์และมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารงานของป่าชุมชนแต่ละแห่ง



ข้อมูลสถานภาพการจัดการป่าชุมชนใน CF-NET Index

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens' Forest Network: CF-NET) รีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand) และองค์กรภาคี ได้ร่วมกันพัฒนา CF-NET Index เพื่อเป็นเครื่องมือรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชน โดยการสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) และ Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร

การรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชนตามกรอบ CF-NET Index ประกอบด้วย 9 เกณฑ์ 24 ตัวชี้วัด ดังนี้

มิติ เกณฑ์ ตัวชี้วัด
สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม (Environmental)
1. สุขภาพป่า 1.1 โครงสร้างป่า
1.2 ข้อมูลไม้ใหญ่
1.3 การทดแทนตามธรรมชาติของป่า
1.4 ความหลากหลายของพันธุ์พืชอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้นไม้
1.5 ไผ่ (กรณีที่มีป่าไผ่)
2. ความหลากหลายทางชีวภาพ 2.1 ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช
2.2 ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพด้านสัตว์ป่า
2.3 กลุ่มของสัตว์ป่าที่มีบทบาทในระบบนิเวศ
2.4 ชนิดพันธุ์สัตว์สำคัญ
3. ความสามารถในการจัดการภัยคุกคามต่อทรัพยากรป่าไม้ 3.1 ระดับความรุนแรงจากภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์
3.2 ระดับความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ
3.3 ระดับความรุนแรงจากพืชหรือสัตว์ต่างถิ่นรุกราน
สังคมเศรษฐกิจ
สังคมเศรษฐกิจ (Social)
4. การพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ 4.1 การมีแหล่งน้ำในป่าชุมชน
4.2 ปริมาณของป่า
5. การแบ่งปันประโยชน์ 5.1 แผนการจัดสรรทรัพยากรป่าชุมชน
5.2 กลไกการแบ่งปันประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชน
6. ธุรกิจจากป่าชุมชน 6.1 การสร้างรายได้จากทรัพยากรป่าชุมชน
6.2 การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน
ธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาล (Governance)
7. การจัดทำแผนและการติดตามประเมินผลการจัดการป่าชุมชน 7.1 ความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน
7.2 การติดตามและประเมินผลการจัดการป่าชุมชน
8. การมีส่วนร่วม 8.1 การมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลายในคณะกรรมการป่าชุมชน
8.2 จำนวนกิจกรรมในแผนจัดการป่าชุมชนที่มีผู้หญิง เยาวชน และกลุ่มเปราะบางเป็นเป้าหมายหลัก
9. การบริหารของคณะกรรมการป่าชุมชน 9.1 ความสม่ำเสมอในการประชุมและการรายงาน
9.2 การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการป่าชุมชน



รูปแบบการรายงานผล CF-NET Index

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้เก็บข้อมูลและรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชนผ่านเว็บไซต์ฐานข้อมูลเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้ CF-NET Index ในการประเมินและรายงานข้อมูลของป่าชุมชนจำนวน 7 แห่ง



ตัวอย่างผลการประเมิน CF-NET Index

ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน

(ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2568)

ตัวอย่างผลการประเมิน CF-NET Index
คะแนนรวม CF-NET Index = 2.22

สิ่งแวดล้อม (Environment)

สิ่งแวดล้อม

E = 2.36

สังคมเศรษฐกิจ (Social)

สังคมเศรษฐกิจ

S = 2.67

ธรรมาภิบาล (Governance)

ธรรมาภิบาล

G = 1.83


วิธีการอ่านระดับคะแนน CF-NET Index

คะแนน ระดับสถานภาพการจัดการป่าชุมชน
2.44 - 3.00 สูงมาก
1.83 - 2.43 สูง
1.22 - 1.82 ปานกลาง
0.61 - 1.21 ต่ำ
0.00 - 0.60 ต่ำมาก

จากผลการประเมินสถานภาพการจัดการป่าชุมชนโดยใช้ตัวชี้วัด CF-NET Index พบว่า สถานภาพการจัดการป่าชุมชนบ้านห้วยหาด ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน อยู่ในระดับสูง โดยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (E) อยู่ในระดับสูง ขณะที่มิติด้านสังคมเศรษฐกิจ (S) อยู่ในระดับสูงมาก และมิติด้านธรรมาภิบาล (G) อยู่ในระดับสูง

ดังนั้น การพัฒนาการจัดการป่าชุมชนในระยะต่อไป ควรมุ่งส่งเสริมพัฒนาด้านธรรมาภิบาลเป็นลำดับแรก และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมเศรษฐกิจ เพื่อให้การบริหารจัดการป่าชุมชนมีความสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น

รอรับชมรายงานฉบับเต็มเร็วๆ นี้





รายชื่อป่าชุมชนที่มีการจัดเก็บข้อมูล CF-NET Index

สามารถดูข้อมูลป่าชุมชนแต่ละแห่งที่มีการจัดทำรายงานสถานภาพการจัดการป่าผ่าน CF-NET Index ได้ที่นี่

ป่าชุมชนบ้านม้าร้อง

ป่าชุมชนบ้านม้าร้อง

อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชนบ้านคลองขัด

ป่าชุมชนบ้านคลองขัด

อ.เมือง จ.ตราด

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด

ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด

อ.ปัว จ.น่าน

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชายเลนชุมชนบ้านแหลมมะขาม

ป่าชายเลนชุมชนบ้านแหลมมะขาม

อ.สิเกา จ.ตรัง

กิจกรรมเด่น: ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม

ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม

อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าชุมชนบ้านดอนกอย

ป่าชุมชนบ้านดอนกอย

อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า สำรวจคาร์บอน สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าชุมชนบ้านพร้าว

ป่าชุมชนบ้านพร้าว

อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า สำรวจคาร์บอน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ




ร่วมสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน

แม้หลายชุมชนจะมุ่งมั่นดูแลและบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อจำกัดด้านงบประมาณยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินกิจกรรมการจัดการและอนุรักษ์ป่า รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อรายงานสถานภาพการจัดการป่าผ่าน CF-NET Index ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและพัฒนาการจัดการป่าชุมชนให้เป็นระบบมากขึ้น

การสนับสนุนป่าชุมชนไม่ได้เป็นเพียงการให้เงินทุน แต่ยังรวมถึงการร่วมติดตามและส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนอย่างมีเป้าหมายผ่าน CF-NET Index ซึ่งช่วยให้ผู้สนับสนุนป่าชุมชนสามารถการเข้าถึงข้อมูลที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการป่า และมั่นใจได้ว่างบประมาณที่มอบให้จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

หากสนใจสนับสนุนป่าชุมชน สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thailand@recoftc.org